วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2557

                 การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศของพืชดอก

การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศของพืชดอก
สิ่งมีชีวิตต้องการสารอาหารเพื่อการดำรงชีวิต เมื่อสิ่งมีชีวิตเจริญเติบโตเต็มที่ก็จะสืบพันธุ์ เพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์ของตนเองไว้ พืชก็เช่นเดียวกันการสืบพันธุ์ของพืชมีทั้งการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ
การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศของพืชดอกจะต้องมีการรวมกันของเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้กับเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย ซึ่งเกิดขึ้นในดอก ดังนั้นดอกจึงเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ของพืชดอก
กระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นในดอก มีดังนี้
1. การแบ่งนิวเคลียสแบบไมโอซิสเพื่อสร้างสปอร์
2. สปอร์เจริญเป็นแกมีโทไฟต์
3. แกมีโทไฟต์แบ่งเซลล์แบบไมโทซิสเพื่อสร้างเซลล์สืบพันธุ์
4. มีการปฏิสนธิของเซลล์สืบพันธุ์
5. มีการแปรผันทางพันธุกรรม ทำให้ลูกที่ได้สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี
ส่วนประกอบของดอก

1. กลีบเลี้ยง (Sepal) เป็นกลีบรองดอก มักมีสีเขียว โดยมีลักษณะเป็นวงเรียกว่า Calyx
2. กลีบดอก (Petal) โคนกลีบดอกมักมีต่อมผลิตน้ำหวาน หรือน้ำต้อย เรียกวงของกลีบดอกว่า Corolla กลีบดอกมักมีสารสีทำให้มีสีสัน คือ
- Anthocyanin สีน้ำเงิน ม่วง ละลายใน Sap Vacuole
- Anthoxanthin มีสีขาว ละลายใน Sap Vacuole
- Carotenoid มีสีเหลือง แสด ส้ม แดง ละลายในChromoplast
3. เกสรตัวผู้ (Stamen) มีก้านชูเกสรตัวผู้ (Filament) ที่ยอดมีถุงเรณู 4 ถุง บรรจุละอองเรณู (Pollen grain) ซึ่งเป็น Male Gametophyte ดอกที่มีวิวัฒนาการสูงมักมีจำนวนเกสรตัวผู้น้อย ดอกไม้โบราณมักมีจำนวนมาก
4. เกสรตัวเมีย (Carpel) มีก้านชูเกสรตัวเมีย (Style) และยอดเกสรตัวเมีย (Stigma) มีน้ำเหนียวๆ เกสรตัวเมียแบ่งเป็น Ovary ภายในมี Ovule 1 อันหรือมากกว่า ภายใน Ovule จะมีถุงเอมบริโอ ซึ่งเป็น Female Gametophyte

Christmas Lillium (Lilium Longiflorum). 1. Stigma, 2. Style, 3. Stamens,
 4.Filament, 5. Petal

ชนิดของดอก
1.จำแนกชนิดของดอกโดยพิจารณาจากจำนวนดอกบนหนึ่งก้าน
สามารถแบ่งออกได้เป็น ดอกเดี่ยว ดอกช่อ และดอกรวม
1. ดอกเดี่ยว (Solitary Flower) คือ ดอกไม้ที่มีดอกอยู่เพียงดอกเดียวบนก้านชูดอกเพียงก้านเดียว เช่น ดอกมะเขือ ดอกชบา
2. ดอกช่อ (Inflorescence Flower) คือ ดอกหลาย ๆ ดอกที่อยู่บนก้านดอกเดียวกัน เช่น ดอกผกากรอง ดอกหางนกยูง ดอกช่อเป็นกลุ่มของดอกที่อยู่บนก้านช่อดอก (Peduncle) เดียวกัน เรียกว่า ช่อดอก (Inflorescence) แต่ละดอกในช่อดอกนี้เรียกว่า ดอกย่อย (Floret) ซึ่งอาจมีก้านดอกของตัวเองเรียกว่า เพดิเซล (Pedicel) ช่อดอกของพืชแต่ละชนิดรูปร่างลักษณะแตกต่างกัน นักพฤกษศาสตร์ได้จำแนกช่อดอกออกเป็น 2 พวก ใหญ่ ๆ คือ
2.1) ช่อดอกที่มีดอกเกิดตามแกนกลาง ช่อดอกนี้เจริญออกไปได้เรื่อย ๆ ทำให้ช่อดอกยาวขึ้น ดอกที่เกิดก่อนอยู่ด้านล่างจะบานก่อน
2.2) ช่อดอกที่ดอกย่อยแตกออกจากแกนกลางหรือไม่แตกออกจากแกนกลางก็ได้ ลักษณะที่สำคัญคือ ดอกย่อยที่อยู่บนสุดจะแก่หรือบานก่อนดอกย่อยอื่น ๆ ที่อยู่ถัดออกมาด้านข้าง
3. ดอกรวม (Composite Flower) เป็นดอกช่อชนิดหนึ่ง (แบบเฮด) ซึ่งจะประกอบด้วยดอกย่อยเล็กๆ จำนวนมากรวมอยู่บนฐานรองดอก มีก้านชูดอกอันเดียวกันมองดูคล้ายดอกเดี่ยว เช่น ดอกบานชื่น
2.จำแนกชนิดของดอกโดยพิจารณาเฉพาะเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย
สามารถแบ่งออกได้เป็นดอกสมบูรณ์เพศ และดอกไม่สมบูรณ์เพศ



1. ดอกสมบูรณ์เพศ (Perfect Flower) เป็นดอกที่มีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียในดอกเดียวกัน เช่น ดอกพู่ระหง ดอกชบา
2. ดอกไม่สมบูรณ์เพศ (Imperfect Flower) เป็นดอกที่มีเกสรตัวผู้หรือเกสรตัวเมียเพียงอย่างเดียว หรืออยู่ต่างดอกกัน ดอกที่ไม่สมบูรณ์เพศที่มีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ในต้นเดียวกัน (Monoecious Plant) ได้แก่ ดอกฟักทอง ดอกละหุ่ง
3.จำแนกชนิดของดอกโดยพิจารณาจากตำแหน่งของรังไข่
1. รังไข่ที่อยู่เหนือฐานรองดอก (Superior Ovary) เป็นรังไข่ที่อยู่เหนือจุดติดของเกสรตัวผู้
2. รังไข่ที่มีฐานรองดอกหุ้มเอาไว้หมด (Inferior Ovary) เป็นรังไข่ที่อยู่ต่ำกว่าจุดติดของเกสรตัวผู้ หรือรังไข่อยู่ต่ำกว่าส่วนอื่นของดอก
3. รังไข่ที่มีจุดติดของรังไข่และเกสรตัวผู้ บนฐานรองดอกก้ำกึ่งกัน (Semi-Inferior Ovary) มีส่วนของกลีบเลี้ยง กลีบดอก และเกสรตัวผู้ติดกับฐานรองดอกบริเวณข้าง ๆ โดยรอบรังไข่ และฐานรองดอกเว้าลงไปและมีขอบโค้งขึ้นเป็นรูปถ้วยอยู่รอบ ๆ รังไข่

1 ความคิดเห็น:

  1. เนื้อหาก๊อปมาหมดเลยใช่ไหม มีตรงไหนตกแต่งเองไหมน้า อ้างอิงให้เค้าด้วยนะจ๊

    ตอบลบ